วันนี้เพิ่งออกไปซื้อเก้าอี้โยกไม้มาครับ
โจทย์ตั้งต้นคือจะหาเก้าอี้ไม้ที่เอาไว้ให้ภรรยาท้องโตนั่งเล่นเวลานั่งคุยกับลูกในพุง
เผื่อว่านั่งโยกไปมาจะกระตุ้นให้ลูกฝึกการทรงตัวตั้งแต่เนิ่นๆ เวลาออกมาคอจะได้แข็งไว
และเดินทรงตัวได้เร็ว เพราะฝึกมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย
ปัญหาแรกเลยคือไม่มีความรู้อะไรเรื่องไม้เลย
ไม่รู้ว่าจะซื้อที่ไหน ราคาเท่าไหร่ และแบบไหนดีไม่ดีอย่างไร
ก็เลยเริ่มต้นจากการถามคนในครอบครัวก่อน ว่าแบบไหนเหมาะ
ตอนแรกเล็งไปที่เก้าอี้หวาย เพราะคิดว่ามันน่าจะเบา ขนย้ายง่ายและราคาไม่น่าแพง
ปรากฏว่าคำตอบที่ได้มาคือแพงกว่าที่คาด และดันมีหวายหลายแหล่ง จากไทย,อินโดฯลฯ
แถมสั่งแล้วต้องรอของอีกเป็นสัปดาห์ๆ และมันดันเก็บฝุ่น (แฟนแพ้ฝุ่นง่าย)
เลยโยนไอเดียทิ้งไป กลับมาเริ่มต้นใหม่
พอเปลี่ยนโจทย์ใหม่มาเป็นเก้าอี้โยกอะไรก็ได้ ทางเลือกแรกก็เลยตกมาที่ iKea
เปิดเว็บปุ๊บเจอปั๊บ มีหลายสีให้เลือก ราคาให้ดูชัดเจน พร้อมสเปคว่าไม้อะไรแบบไหน
จดไว้ในมือถือพร้อม ขับรถไปก็คงสอยได้เลย
แต่ก็มีข้อมูลอีกอันหนึ่งโผล่มา
“ทำไมไม่ลองไปเดินดูที่ถนนสายไม้ล่ะ”
(O_0)
มันคืออะไรหว่า ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย
ก็เลยนั่ง search หาข้อมูล พบว่าเป็นถนนสองเส้น
ที่ขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไม้และเฟอร์นิเจอร์อยู่แถวบางโพ
ซึ่งยังไม่รู้จักและไปไม่เป็น แต่เทคโนโลยีก็ทำให้ง่ายได้อีก
ด้วยการเปิด Google street view เข้าไปลุยถนนทั้งสองเส้น
พบว่ามีบางร้านวางเก้าอี้โยกขายอยู่หน้าร้านเลย และก็ไม่ได้ไกลมาก
ก็เลยตัดสินใจขับรถไปดูเลย
ถนนมันแคบนิดหน่อย แต่ร้านเยอะมากพอควร รถก็เยอะ
ขับวนอยู่สองรอบก็สอยเก้าอี้โยกไม้สักมาในราคาที่แพงกว่าอิเกียนิดหน่อย
(แต่ค่อนข้างชอบใจมาก เพราะไม้ดี และขนาดใหญ่ ดีไซน์ไม่เลว แม่ค้าบริการดีมาก)
ซึ่งถ้ามองในแง่ตลาดขายไม้ ก็แอบสงสัยอยู่เล็กๆว่า
การที่ร้านค้าเหล่านี้มาเจอบริษัททุนข้ามชาติมาบุกใส่แบบนี้จะส่งผลเยอะแค่ไหน?
ลักษณะพื้นฐานของร้านค้าส่วนใหญ่ตอนนี้ก็คือ
1. สินค้าแต่ละร้านมีไม่ได้หลากหลายมาก
2. stock สินค้าไม่มี online เดินเข้าไปเลือกๆของจริง
3. หาที่จอดรถลำบากนิดหน่อย (จอดหน้าร้าน) ถนนแคบ
4. เดินทางไปลำบากแม้จะไม่ไกล (ถนนลึกและยาว ส่วนใหญ่ก็ขับรถไปกัน)
5. ราคาแต่ละร้านไม่เท่ากัน แต่ของคล้ายกันมาก (ใช้เวลาในการเปรียบเทียบเยอะ)
ข้อดีเท่าที่รู้สึกคือของคุณภาพค่อนข้างดีเลย บางร้านมีแบบสวยๆเยอะด้วย
แต่การโปรโมตจะให้สู้ทุนหนาคงลำบาก
มานั่งคิดต่่อเล่นๆว่า ถ้าจะปรับตัวให้สู้กับทุนใหญ่จะทำอย่างไรได้บ้าง?
– ถ้าแยกกันทำแบบเล็กๆ ก็สู้ยาก เพราะจะแข่งกันแย่งลูกค้าเองมากกว่า (ไม่งั้นก็ทำให้มัน unique เจาะตลาดเฉพาะโคตรๆไปเลย)
– ถ้ารวมกัน (ปัญหาแรกก็จะแบ่งผลประโยชน์ยังไงให้ลงตัว)
– สมมติว่ารวมกันได้ จัดแบ่งพื้นที่ใหม่ให้มีพื้นที่จอดรถสะดวก และโซนสินค้าชัดเจนน่าจะช่วยได้บ้าง
– แบ่งกลุ่มสินค้าให้ชัดเจน ไม่ทับซ้อนกันของแต่ละร้าน คือใครถนัดสินค้าตัวไหนให้จัดการไปเลย หรือไม่ก็รวมเป็นกลุ่มย่อย กำหนดราคาให้ชัดเจน(ที่แข่งขันกับร้านทุนใหญ่ได้) ทำให้ลูกค้าหาของได้ง่ายและราคาชัดเจน ร้านค้าก็ปรับกลยุทธ์ในการขายสู้กับทุนใหญ่ได้เร็ว
– เรื่อง stock สินค้า online จริงๆจะมองว่าลูกค้าหาของได้ง่ายก็ดี แต่จะมองว่าเปิดเผยให้คู่แข่งรู้หมดทั้งแบบและราคาก็ได้เหมือนกัน ซึ่งบางทีการไม่เปิดหมดแล้วให้ไปเดินค้นหาสินค้าเอาเอง มันก็เป็นเสน่ห์แบบนึงที่ดึงดูดขาจรได้ไม่เลวเหมือนกัน
– ทำสินค้าหลายเกรดออกมาดึงดูดลูกค้าหลายกลุ่ม (เหมือนโปรโมชั่นของถูกไม่กี่ชิ้นที่ดึงให้คนมาดูสินค้าก่อน แล้วสุดท้ายก็ได้ของที่ใหญ่กว่าไปเพราะถูกใจมากกว่า)
– อาจต้องคิดเผื่อเรื่องอาหารและห้องน้ำมาเสริมแบบเป็นเรื่องเป็นราว (ซึ่งจริงๆถ้ารวมมือกับร้านอาหารอร่อยๆได้นี่ก็วินวินทั้งสองฝ่ายได้นะ ลูกค้ามีที่กิน+ผ่อนคลาย ร้านขายของได้ง่าย ร้านอาหารมีลูกค้าขาจรเพิ่ม)
– นอกจากเรื่องคุณภาพของและดีไซน์ที่จำกัด (อาจต้องคัดแบบที่สวยเน้นๆที่คนชอบเยอะแทนทำหลากหลายสู้กับทุนใหญ่ เพราะเสียเปรียบเรื่อง warehouse) เรื่องบริการหลังการขายอาจจะทำเป็นจุดแข็งได้ ถ้ามีระบบขนส่งของที่แชร์กันหลายร้านได้ ลูกค้าบางกลุ่มก็ไม่มีรถ หรือรถเล็กขนไม่ไหวก็มี
– การโปรโมต (ถ้ารวมกันเป็นก้อนได้อาจทำให้เสียงดังกว่านี้ แต่คงต้องมีการกำหนดแนวทางให้ชัดว่าจะดึงลูกค้ามายังไง และคาดหวังว่าลูกค้าจะได้อะไรกลับไปแบบไหนยังไง)
– การติดตามผล ยอดขาย เพื่อวางแผนโปรโมตสินค้า หรือหาลูกค้ากลุ่มใหม่ๆอาจช่วยให้เปิดตลาดใหม่ได้ง่ายขึ้น เช่นสินค้าแนวสุขภาพ โต๊ะทำงานสำหรับคอนโดพื้นที่จำกัด เก้าอี้สำหรับการออกกำลังกาย ตู้ใส่หนังสือสำหรับนักอ่าน ฯลฯ (คำถามสำคัญคือจะไปเปิดตลาดที่ไหน กับใคร และเมื่อไหร่)
– อาจต้องมีการสร้างชื่อแบรนด์ใหญ่และแบรนด์ย่อยให้ชัดเจน (อันนี้ปัจจุบันเสียเปรียบทุนใหญ่เต็มประตู เพราะเวลาขายของเน้นแต่ของ แต่คนซื้อจำไม่ได้ว่าซื้อจากร้านอะไร ในขณะที่ทุนหนาคนจำชื่อแบรนด์ได้ชัดกว่ารุ่นสินค้าค่อนข้างแน่นอน) อาจต้องสร้างเอกลักษณ์ให้แบรนด์ย่อย เช่น แบรนประหยัดคุ้ม แบรนหรูหรา แบรนแหวกแนว เพื่อทำให้การบอกต่อทำได้ง่ายและจำง่าย
– การโปรโมตอาจต้องช่วงชิงสื่อ และเข้าถึงคนที่อาจจะเป็นลูกค้าในอนาคตได้แน่นอน (อาจต้องเลือกสถานที่และเวลาที่เหมาะสม — อันนี้ดูจากยูนิโคลกับอิเกียได้ เพราะเขาเตรียมมาดี)
ทั้งหมดนี้ก็แค่คิด และได้แต่หวังว่าตลาดดีๆในบ้านเราจะไม่โดนกลืนหายไปเพราะปรับตัวไม่ทันกับคู่แข่งที่พร้อมบุกตีเข้าบ้านตลอดเวลา
หวังว่าจะร้านค้าดีๆจะอยู่รอดต่อไปครับ