Tags
ช่วงนี้เพิ่งได้ลองสังเกตเห็นวิธีคิดงานของผู้บริหารระดับสูงสองท่าน
ที่มีวิธีทำงานและอุปนิสัยที่แตกต่างกันมาก
แต่แนวคิดในการสร้างสรรค์งานใหม่ๆออกมาในแนวทางคล้ายกันอย่างน่าสนใจ
ขอจดเก็บเอาไว้เป็นแนวทางให้ตัวเอง เผื่อถ้าวันหน้าจำเป็นต้องใช้จะได้ไม่พลาด
รูปแบบวิธี(ที่คล้ายกัน)ของผู้บริหารทั้งสองก็คือ
1. ข้อมูลกว้างและลึก
2. เลือกจุดที่จะกระโดดไปถึง
3. สร้างเงื่อนไขให้คนทำงาน
4. ให้ผู้เชี่ยวชาญในงานช่วยเก็บรายละเอียด
ข้อแรก ข้อมูลกว้างและลึก
หมายถึง ในขณะที่กระแสตลาดโลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ผู้บริหารเหล่านี้รู้เทรนของวงการ และมีข้อมูลเชิงลึกอยู่ในมือ รู้ว่าอะไรจะมาถึงเมื่อไหร่ ข้อดีข้อเสีย และคาดการณ์ผลกระทบต่อวงการได้ค่อนข้างแม่นยำ (สิ่งที่น่าสนใจต่อก็คือ คนเหล่านี้บริโภคข่าวสารจากที่ไหน และบริหารเวลาในการดูดซับข้อมูลใหม่ๆอย่างไร)
ข้อสอง เลือกจุดที่จะกระโดดไปถึง
ในขณะที่คนทั่วไปรู้ข่าว เมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึง และคอยปรับตัวตามสถานการณ์รอบตัว ผู้บริหารกลุ่มนี้กลับมองล่วงหน้าไปก่อนว่าอีกกี่เดือน จะเกิดผลลัพธ์อะไร และควรจะขยับองค์กรไปอยู่จุดไหนเมื่อเวลานั้นมาถึง ต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง หรือจะชิงเปิดแนวรบด้านไหนเพื่อให้องค์กรพร้อมในตลาดที่เปลี่ยนไปไว โดยอาศัยข้อมูลเชิงลึกที่มี ช่วยลดความเสี่ยงและสร้างภาพของเป้าหมายที่ชัดเจนจับต้องได้ให้ลูกทีมเห็น
ข้อที่สาม สร้างเงื่อนไขให้คนทำงาน
โดยปกติ คนทำงานทั่วไปมักจะรอรับโจทย์จากหัวหน้า และคอยแก้ปัญหาในระดับรายละเอียดโดยไม่เข้าใจภาพใหญ่ที่กำลังจะไป จนทำให้ผลลัพธ์ออกไปมาไม่ตรงกับสิ่งที่ควรจะเป็น ผู้บริหารบางท่านจะใช้วิธีบีบบังคับเอาผลงานในแบบที่อยากได้ (ซึ่งดูเหมือนเอาแต่ใจ แต่ที่จริงผ่านการกลั่นกรองข้อมูลมามาก) แล้วให้ลูกทีมแก้ปัญหาและประติดประต่อผลงานให้ออกมาในแนวทางที่ควรจะเป็น ในขณะที่ผู้บริหารบางคนจะใช้วิธีวางโครงหลักของโจทย์แล้วให้ทีมงานเสริมในรายละเอียด แล้วคอยแก้ปัญหาที่ทำให้ทีมทำงานยากด้วยวิธีที่เหนือความคาดหมายของระดับคนทำงาน (บางทีอาจต้องใช้คำว่าวิธีแก้แบบพิสดารนอกกรอบ) ซึ่งสังเกตได้ว่าวิธีแรกจะใช้ได้ดีกับทีมที่มีขนาดใหญ่ วัฒนธรรมองค์กรแบบแบ่งขั้นลำดับและหน้าที่กันชัดเจน ยอมรับความผิดพลาดได้น้อยและเปิดโอกาสให้มีความคิดสร้างสรรค์น้อย ในขณะที่วิธีแบบที่สองมักใช้กับทีมที่มีขนาดเล็ก ขีดความสามารถระดับบุคคลสูง และมักจะได้งานที่มีครีเอทีฟสูงกว่า
ข้อที่สาม ให้ผู้เชี่ยวชาญในงานช่วยเก็บรายละเอียด
โดยทั่วไปนั้น คนจะเข้าใจว่าเวลาลงมือ ผู้บริหารจะไม่ทำเอง แต่จะใช้วิธีเลือกทีมงานที่มีทักษะช่วยลงรายละเอียดให้ แต่นั่นเป็นเพียงมุมมองด้านเดียว ในความเป็นจริง ผู้บริหารจะต้องมีวิธีตรวจสอบผลงานที่เชื่อถือได้ (และเท่าที่พบมักมีหลายวิธีการ) ไว้สำหรับตรวจผลงานในหลายมุมมองอย่างไม่มีอคติ เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ได้มีคุณภาพสูงพอจะนำไปประกอบกับข้อมูลที่มีเพื่อเพิ่มโอกาสแข่งขันให้กับองค์กร
ในแง่ของลูกทีม ทีมที่ตอบสนองงานได้หลากหลายมุมมองพร้อมข้อมูลที่วัดและจับต้องได้ชัด จะช่วยทำให้ผู้บริหารทำงานได้ง่ายขึ้นและนำพาองค์กรไปขยับตัวนำวงการไปได้รวดเร็วกว่าองค์กรแบบเช้าชามเย็นชามหลายเท่าตัว