รีบมาต่อหลังจากดองไปนาน
(เพื่อนๆบางคนก็เริ่มคลอดน้องออกมาแล้ว เขียน blog ช้าไปอาจจะไม่ทันการ)
เรื่องที่จะพูดถึงในตอนนี้ก็คือปัญหาสุดคลาสิกของหนูน้อยหลังออกมาจากท้องมะม๊า ก็คือเรื่อง การตื่นนอนรัวๆยามดึก!
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เสียงร่ำลือจากเพื่อนๆเล่าให้ฟังกันก่อนคลอดเยอะมาก ว่าทั้งคุณพ่อคุณแม่ต้องนอนตุนไว้เยอะๆนะ เพราะเดี๋ยวหลังจากคลอดน้องออกมา จะไม่ค่อยได้นอนกัน ซึ่งมันก็เป็นอย่างที่เขาว่าจริงๆ ลูกชายตัวน้อยของเราตื่นมาร้องไห้งอแงและขอดูดนมคุณแม่ยามค่ำคืนตลอด ทำเอาคุณแม่เริ่มอ่อนแรงและเริ่มเข้าโหมดซอมบี้ย่อมๆเข้าไปทุกวันๆ ช่วงเวลาในการนอนและตื่นของเด็กน้อยสั้นเพียงประมาณไม่เกิน 1 ชั่วโมงและกินตลอดเวลา เป็นแบบนี้ตลอดทั้งเดือน แต่น้ำหนักกลับไม่ขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น
หลังจากญาติๆแวะมาเยี่ยมดูแล้วก็เลยแนะนำให้พาน้องไปตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อหาสาเหตุ แล้วก็ได้คำตอบมาว่า วิธีการดูดนมของน้องยังไม่ถูกต้อง ทำให้ได้น้ำนมน้อย พอกินได้น้อย ก็เลยหลับได้ไม่นานก็ตื่นเพราะหิวอีก กลายเป็นลูปวนเวียนไม่รู้จบ (แถมเริ่มชินกับวิธีดูดแบบผิดๆล่ะ แก้ยากได้อีก)
วิธีแก้ปัญหาขั้นต้นของพวกเราก็เลยต้องพยายามปรับท่าให้นมกันใหม่หมด (ด้วยความดูแลของคุณหมอและพยาบาลหลายท่าน) และต้องเสริมนมชงเข้าช่วยเพื่อให้น้ำหนักขึ้นมาตามเกณฑ์ให้ได้ก่อน
หลังจากผ่านไปเกือบสองเดือน น้ำหนักเริ่มเข้าที่ ตัวน้องก็กินนมคุณแม่และต่อด้วยนมชงจนอิ่ม และนอนหลับยาวขึ้นเป็นสามชั่วโมงต่อรอบ วนเวียนเป็นลูปตลอดทั้งวันและคืน พวกเราก็เริ่มเบาลงจากเดิมบ้าง แต่ก็ยังไม่ง่ายสำหรับคุณแม่ที่เวลาลาคลอดกำลังจะหมด และต้องกลับไปทำงานเหมือนเดิม ในเมื่อกลางวันต้องทำงาน และกลางคืนจะต้องคอยดูแลลูกตอนกลางคืนอีก จะเอาเวลาที่ไหนพักผ่อน?
ในขณะที่เวลากำลังจะหมดลงนั้นเอง
ก็มีโทรศัพท์ของน้องสนิทโทรเข้ามา
@juacompe: “สวัสดีครับพี่วิน”
@windygallery: “สวัสดีครับจั๊วะ”
@juacompe: “เจตานอนหลับยาวทั้งคืนรึยังครับ?”
@windygallery: “ยังอ่ะ ทำไมเหรอ?”
@juacompe: “ผมรู้สึกว่ามันเป็นคำถามที่ประหลาดมากสำหรับพ่อแม่มือใหม่ ว่าแต่พี่มีเวลาพอคุยกันเรื่องนี้ใหม่ครับ?”
แน่นอนว่าผมมี
และเต็มใจอย่างยิ่งที่น้องรักจะนำเอาข้อมูลอันมีคุณค่าขนาดที่สามารถเปลี่ยนช่วงชีวิตที่ยากลำบากของคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ให้กลายเป็นวันที่น่าจดจำได้ในเวลาชั่วโมงกว่าๆ
ประเด็นหลักของการพูดคุยในค่ำคืนนั้น คือความเข้าใจเรื่องการนอนหลับของเด็กทารกที่ “เข้าใจกันไปเอง” ว่าการที่เด็กทารกนอนและตื่นมากินนมแม่ตอนกลางคืนนั้นเป็น “เรื่องปกติ”
ซึ่งตอนนี้เรามีข้อพิสูจน์แล้วว่ามัน “ไม่จริง“
ต้นเหตุของการศึกษาเรื่องนี้เกิดจาก หญิงนักข่าวชาวอเมริกันคนหนึ่ง ได้แต่งงานและย้ายไปอาศัยอยู่ ณ เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส และพบว่าพฤติกรรมของเด็กเล็กในฝรั่งเคสหลายๆอย่างนั้นแตกต่างจากที่ลูกเธอเป็นและเด็กที่อื่นที่เธอเคยรู้จัก เช่น การกินอาหารอย่างเป็นระเบียบ ควบคุมตัวเองได้ ไม่เหมือนเด็กอเมริกันที่โวยวายทำข้าวของเละเทะระหว่างการกิน ทั้งๆที่อยู่ในวัยเดียวกัน และรวมไปจนถึงการที่เด็กทารกของครอบครัวฝรั่งเศส สามารถนอนยาวตั้งแต่หัวค่ำไปยันเช้าเหมือนผู้ใหญ่ได้ตั้งแต่อายุไม่กี่อาทิตย์
ข้อมูลรายละเอียดเชิงลึกหาอ่านต่อได้จากหนังสือสองเล่มนี้ครับ
เพื่อให้กระชับ ขอเล่าเอาทฤษฎีแบบตัดน้ำออกให้เข้าใจง่ายขึ้นอีกหน่อย คือ
การนอนหลับยาวๆของผู้ใหญ่จะเกิดจากการนอนหลับลึกและหลับตื้นสลับกันไปเรื่อยๆทั้งคืน
เด็กเกิดใหม่ยังไม่รู้วิธีเชื่อมต่อระหว่างการหลับลึกกับหลับตื้น
บางครั้งที่เขาร้องไห้โวยวายกลางดึกนั้น บางทีเขายังไม่ได้ตื่น เขาแค่ละเมอ (ขยับตัว ร้องไห้)
ถ้าปล่อยให้เขาได้ฝึกอยู่กับตัวเองซักประมาณ 5 นาที บ่อยๆเข้า เขาจะเริ่มเชื่อมต่อหลับตื้นไปหลับลึกได้เอง
และจะนอนหลับยาวเหมือนผู้ใหญ่ได้
นี่คือเรื่องพื้นฐานการฝึกเด็กให้นอนหลับยาวที่อยู่ในวัฒนธรรมของชาวฝรั่งเศส
แต่คนไทยอย่างเราไม่เคยรู้!!!
พอลูกร้องปั๊บก็เลยจับลูกขึ้นมาโอ๋ และให้กินนมเลย
ผลก็คือลูกตื่น และไม่ได้ฝึกเชื่อมต่อระหว่างหลับลึกกับหลับตื้นเลย
แถมกินบ่อยๆเข้า ร่างกายก็เริ่มจำเวลาได้ น้ำย่อยก็เริ่มมา
คราวนี้เลยกลายเป็นความเคยชินที่เปลี่ยนยากไปเลย
จากที่หาข้อมูลมา โดยปกติถ้าไม่หัด ไม่ฝึกอะไรเลย เด็กจะสามารถเริ่มนอนยาวได้ด้วยตัวเองในอายุประมาณ 6 เดือน (แบบเป็นได้ตามธรรมชาติ)
แต่ในฝรั่งเศสที่เรื่องการฝึกเด็กนอนอยู่ในวัฒนธรรม เด็กของพวกเขานอนยาวทั้งคืนได้ตั้งแต่ตอนอายุ 2 อาทิตย์ (และส่วนใหญ่คือไม่เกิน 4 เดือนก็นอนหลับยาวทั้งคืนแล้ว)
เนื่องจากแนวคิดนี้ถือว่าปฎิวัติความเข้าใจของการเลี้ยงลูกในบ้านผมพอสมควร ก็เลยต้องมีการเจรจากับญาติผู้ใหญ่ในบ้านก่อนเพื่อจะได้ไปในแนวทางเดียวกัน
วิธีการฝึกให้ลูกหลับยาวตามทฤษฎี มีอยู่สองแนวทาง
อันแรก คือวิธี “หักดิบ”
แยกพื้นที่สำหรับนอนของเด็กแบบชัดเจนไปเลยเพื่อให้เขารู้ว่านี่คือเวลานอน กำจัดแสงและสิ่งรบกวนและปล่อยให้เขาอยู่ตัวคนเดียวทั้งคืน (ในที่ๆเรามั่นใจว่าปลอดภัยที่สุดแล้ว) ถ้าจะอุ้มขึ้นมาปลอบตอนร้องไห้ ให้ทำได้ครั้งเดียว และพูดคุยบอกเขาก่อนจะทำ ว่าเรากำลังจะทำอะไร และให้เขาทำตัวอย่างไร (คนฝรั่งเศสถือว่าเด็กเข้าใจคำพูดของผู้ใหญ่เพียงแต่ยังแสดงออกไม่ได้เท่านั้น)
โดยปกติวิธีนี้มักจะใช้เวลาไม่กี่วัน แต่จะต้องแลกมากับช่วงเวลาลำบากใจตอนที่ลูกร้องคืนแรกๆ
วิธีที่สอง คือ “ค่อยๆปรับ”
วิธีนี้เน้นที่การสังเกตพฤติกรรมหลังจากที่ลูกร้องโวยวายยามดึก โดยแทนที่จะรีบอุ้มลูกขึ้นมาให้นม ให้คอยดูลูกอยู่ข้างๆประมาณ 5 นาทีแทน เพื่อที่ให้โอกาสเด็กน้อยได้ลองฝึกนอนต่อเนื่องจากหลับติ้นไปเป็นหลับลึกต่อด้วยตัวเอง แต่ถ้าเกินจากนั้นแล้วยังร้องก็ให้ปลอบ ถ้าเขาหิวก็ค่อยให้เขากิน (แต่ต้องฝึกสังเกตและแยกให้ออกว่าเขาต้องการอะไร แล้วค่อยตอบสนอง)
วิธีนี้จะใช้ระยะเวลาเป็นระดับสัปดาห์ขึ้นไป
แล้วก็ถึงเวลาลงมือปฏิบัติ
ตอนแรกนั้น ครอบครัวเราลองใช้วิธีหักดิบก่อน โดยลองปรับที่นอนใหม่ให้เป็นบริเวณชัดเจน โดยเอาเตียงเด็กมาวางไว้ข้างที่นอนของพวกเรา ปิดแสงไฟและเสียงรบกวน แล้วลองปล่อยให้น้องนอน (ก่อนปล่อยบอกให้น้องฟังว่าเรากำลังจะทำอะไร) แล้วก็เริ่มนอน สักพักน้องก็ร้อง เลยอุ้มขึ้นมาปลอบทีนึงเพื่อให้รู้ว่ายังอยู่ใกล้ๆกัน แล้วก็วางให้นอนต่อ ปรากฏว่าสักพักก็เริ่มไม่ยอม ร้องไห้งอแง
พยายามทำใจแข็งกันอยู่สองคน (เกือบทะเลาะกับผู้ใหญ่ในบ้านก็ตอนนี้) หลังจากผ่านไปประมาณสองชั่วโมง ก็เลยต้องยอม จับขึ้นมาอุ้มปลอบให้แล้วดูดนมแม่ต่อเพื่อกล่อมจนหลับไป (สรุปว่า fail เพราะใจไม่แข็งพอ)
ผลข้างเคียงที่ออกมาชัดเจนก็คือ คืนต่อๆมาลูกไม่ยอมนอนเลย พอจับวางที่นอนเดิมปั๊บร้องงอแงทันที (กลายเป็นกลัวการนอนกลางคืนไปเลย)
สถานการณ์ตอนนั้น เครียดพอสมควร..
เพราะพอลูกไม่ยอมนอน ก็ส่งผลเป็นโดมิโน่กับพ่อแม่ และญาติๆรอบข้างเป็นลูกโซ่
ดังนั้นก็เลยต้องปรับตัวมาใช้วิธีที่สองเพื่อให้แก้ปัญหาแทน
เอาเตียงเด็กออกไปจากห้อง แล้วย้ายมานอนกับคุณแม่เหมือนเดิม จัดสภาวะแวดล้อมใหม่ โอ๋และพยายามกล่อมให้ต่างจากบรรยากาศวันที่ทำให้ลูกกลัวกลางคืนฝังใจ ค่อยๆปลอบและยอมให้ลูกดูดนมจนหลับ ปรับทุกๆอย่างๆ หลังจากผ่านไปเกือบอาทิตย์ ลูกก็เริ่มยอมกลับมานอนกลางคืน (พ่อแม่แทบเป็นซอมบี้กันเลยทีเดียว)
ในระหว่างช่วงเวลาที่โหดร้ายนี้ พวกเราก็เริ่มแยกแยะเสียงร้องของเขาได้แล้ว ว่าร้องแบบไหนคือหิว (ลูกผมร้อง อะแฮ้ = หิว ชัดมาก) แบบไหนปวดท้องมีลม (สังเกตจากเสียงร้องและมือเกร็ง) ส่วนง่วงดูง่ายเพราะอ้าปากหาวตาปิด และฉี่/อึ นี่อาศัยดูจากแพมเพิร์สเอา
พอเริ่มแยกแยะอาการได้ เราก็เริ่มใช้วิธีสังเกตก่อนประมาณ 5 นาที ไม่รีบอุ้มเวลาที่เขาร้องตอนกลางคืน คอยตบก้นเบาๆให้เขาหลับต่อและปล่อยให้เขาค่อยๆฝึกนอนหลับต่อเนื่องได้ด้วยตัวเอง ทีละน้อยๆ
หลังจากผ่านไปอีกประมาณสองอาทิตย์ ลูกของพวกเราก็เริ่มนอนยาวทั้งคืน ตื่นอีกทีตอนเช้าเลย
\(^^)/\(^^)/
แล้วชีวิตก็ดีขึ้น
คุณแม่ตื่นยามดึกเพื่อปั้มนมต่อไป (เพียงแต่ไม่ต้องมาคอยดูแลลูกด้วย เบาแรงได้อีกหน่อย)
เด็กน้อยนอนหลับยาว ก็มีส่วนให้มีพัฒนาการที่ดี อารมณ์ดี และเลี้ยงง่ายขึ้น
การเลี้ยงลูกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากเสียจนเกินความสามารถของคุณพ่อคุณแม่มือใหม่
การเลี้ยงลูกไม่ใช่ไสยศาสตร์ การร้องของเขามักมีสาเหตุ การสังเกตเยอะๆช่วยได้มาก
พยายามทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของเขาจากสิ่งที่เขาแสดงออก (ยิ่งเด็กเล็กยิ่งตรงไปตรงมามาก)
สิ่งแวดล้อมมีผลกับการเลี้ยงมาก เช่น เวลานอนของพ่อแม่ แสง เสียง (และอย่าลืมทำให้ลูกเรอก่อนนอน)
ถ้าคิดว่ามีปัญหาเกิดขึ้น แนะนำให้ลองดูสิ่งรอบๆตัวก่อน แล้วค่อยๆปรับครับ
หวังว่าจะมีประโยชน์ในการเลี้ยงน้องๆของทุกครอบครัว ให้เติบโตอย่างมีสุขภาพแข็งแรง อารมณ์แจ่มใสกันทุกคน ขอเอาใจช่วยคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทุกท่านครับ
สวัสดีปีใหม่ครับ ^^