สมองของคนเราจะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุราวๆ 25 ปี
โดยการพัฒนานั้นจะเกิดจากประสบการณ์ที่หลากหลาย
และสมองส่วนไหนที่ถูกใช้งานบ่อยๆก็จะยิ่งพัฒนา
ส่วนที่ไม่ได้ก็จะฝ่อหายไป ทำให้เหลือแต่สมองที่มีประสิทธิภาพสูง
และเซลล์สมองในเด็กที่กำลังมีความสุขจะเติบโตมากกว่าเด็กที่กำลังเครียด
การพัฒนาเด็กในวัยเล็กจึงควรโฟกัสที่กิจกรรม และอารมณ์
การเล่นในเด็กวัยเล็กๆ ช่วยพัฒนาสมองในหลายแง่มุม
เพราะการเล่นนั้นผิดพลาดได้ เช่น
ต่อบล็อคไม้แล้วล้ม = สมองจะพัฒนาเพื่อเรียนรู้และแก้ปัญหา
การปีนต้นไม้ = ฝึกการคอนโทรลร่างกาย, วางแผนในการปีนและแก้ปัญหา
การเล่นของเล่น รวมกับคนจะให้เกิดพัฒนาได้มากกว่าเล่นแต่กับของเล่นมาก
ในขณะเดียวกัน การฝึกฝนให้เด็กรู้จักรับผิดชอบหน้าที่/ทำงานบ้าน
ก็เป็นการพัฒนาสมองด้านการควบคุมตัวเองอย่างดี เพราะงานบ้านเช่น
การล้างจาน/ถูบ้าน เป็นงานที่น่าเบื่อแต่ต้องทำ ทำให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์
และพัฒนาสมองในส่วนความคิดที่จะใช้การบริหาร/วางแผน
การเดินทาง/เที่ยว = ฝึกแก้ปัญหา, รู้จักทำตามกฏระเบียบ, อดทน
การให้เด็กเรียนรู้จากคำพูดสอนนั้นได้ผลน้อยกว่าการให้ทำผิดพลาด
และแก้ไข (อย่าพยายามให้ลูกทำถูกหมดตลอดเวลา)
พ่อแม่ที่จะช่วยส่งเสริมให้ลูกโตแบบคิดเป็นเหตุเป็นผลจะต้องประกอบด้วย
1. ความรักและเอาใจใส่
2. วินัย
ขาดวินัย เด็กจะไม่รู้จักควบคุมตัวเอง
ขาดความรัก เด็กอาจจะทำตามคำสั่งแต่คิดไม่เป็น
การฝึกวินัยในเด็ก ไม่ใช่การฝึกวินัยแบบทหาร
และไม่ใช้การลงโทษในการชี้นำ (* อันนี้คนทั่วไปมักเข้าใจผิด)
หลักสำคัญคือ
“เด็กจะทำตัวดีขึ้น ก็ต่อเมื่อเขารู้สึกดี”
การเสริมให้เด็กทำตามวินัยมีหลายวิธี เช่น
– ชม
– ให้กำลังใจ
– สร้างแรงจูงใจ
– ให้ทางเลือก (อย่าบังคับ เพราะเด็กจะรู้สึกถึงการใช้อำนาจ)
– เตือนล่วงหน้าแบบเบา (อย่าบ่น ไม่งั้นจะยิ่งพยายามแหกคอก)
– สร้างข้อตกลงร่วมกัน
– ให้เรียนรู้ตามธรรมชาติ เช่น
– ไม่กิน -> อด -> หิว -> ปรับตัว
– ไม่กิน -> ให้กินขนม -> ไม่ได้ฝึกอะไร
– ให้รับผิดชอบ
– ตัดสิทธิ์ (พร้อมชี้แจงเหตุผล)
ทั้งนี้การสื่อสารจะต้องระวัง เพราะถ้าเกิดสภาวะขัดแย้งจนเครียด
จะมีอยู่สามรูปแบบหลักๆที่เป็นไปได้
1. สู้ -> ต่อต้าน -> ก้าวร้าว
2. หนี -> วิตกกังวล -> ซึมเศร้า
3. นิ่ง/ยอม -> ความนับถือตัวเองลด -> สมองหยุดพัฒนา
ก่อนจะสื่อสารกับเด็ก ต้องไม่ใช้อารมณ์
และรอให้เด็กสงบก่อนจะสื่อสาร เพราะถ้าอารมณ์ยังพุ่งพล่านอยู่ทั้งคู่
จะไม่สามารถสื่อสารให้ออกมาดีได้
และการฝึกฝนที่ดีที่สุด คือ การเป็นต้นแบบที่ดี
การเลี้ยงลูกจึงเป็นการพัฒนาตัวเอง
เทคนิคในการแก้ปัญหาเวลาเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
1. หยุดตัวเองให้ได้ก่อน
เพราะถ้าอารมณ์ของผู้ใหญ่ครอบงำ อย่าหวังว่าจะได้ผลดีๆต่อไป
2. หยุดปากตัวเองให้สนิท
เพราะถ้าบ่นหรือพูดในแง่ร้ายหรือใช้อำนาจของผู้ใหญ่
อย่าคิดเด็กจะเชื่อฟังหรือจบได้ดี
(ระวังอย่าให้คำพูด ดูถูก หรือประชดประชันหลุดออกจากปากเด็ดขาด)
3. หา “ความต้องการ” ที่แท้จริงให้ออก
ปกติก่อนที่เด็กจะทำพฤติกรรมใดๆ มันจะมีสาเหตุจากสิ่งที่เขาต้องการ
ยกตัวอย่างที่ง่ายที่สุด ถ้าเด็กคนนึงเบื่อ เขาอาจจะเริ่มวิ่งเล่น
ในมุมมองของผู้ใหญ่อาจจะบอกว่าเขานั้นซน และเริ่มใช้เสียง
(ที่แฝงถึงอำนาจ)ให้เขาหยุดและนั่งนิ่งๆ ซึ่งนั่นเป็นการระงับพฤติกรรม
แต่ไม่ได้แก้ปัญหาถึงความต้องการของเขาที่เบื่ออยู่เลย
ดังนั้นการแก้ปัญหาปลายเหตุแบบนี้ก็จะไม่จบดี
4. เชื่อมต่อกับความคิดเด็กให้ได้ก่อนแสดงความคิดเห็น
ปัญหาหลักของผู้ใหญ่คือมีประสบการณ์มากกว่าเด็กหลายสิบเท่า ทำให้เกือบ
ทุกครั้งมองทะลุไปถึงวิธีแก้ปัญหา และพยายาม(ยัดเยียด)คำตอบให้เด็ก
ก่อนที่สร้างความอบอุ่นในใจกับเขา
ยกตัวอย่างเช่น เด็กคนนึงถ้าทำเรื่องผิดพลาดร้ายแรงและเสียใจมาก
แล้วมาเจอคน 2 คน
คนแรก พูดว่าไม่เป็นไร แก้ยังงี้ซิๆๆแล้วไล่ให้เด็กไปทำตาม
กับ
คนที่สอง แสดงความเห็นอกเห็นใจ และคอยรับฟัง/ปลอบให้เขาระบาย
โดยไม่ไปจี้/ชี้นำถึงการแก้ปัญหาตั้งแต่เด็กเริ่มอ้าปาก
คิดว่าเด็กจะอยากเล่าปัญหาให้คนไหนฟังมากกว่า?
ความจริงคือ คนแรก คือผู้ใหญ่ทั่วไปที่โตกว่ามาก และไม่ได้สนใจ
ความรู้สึกของเด็กที่อยู่ตรงหน้าเท่าการแก้ปัญหา
ส่วนคนที่สอง ก็คือเพื่อนเด็กที่อายุพอๆกัน ไม่มีความรู้และอำนาจมากกว่า
ถึงขนาดชี้ทางไปได้เร็ว จึงต้องรับฟังให้มากก่อน
และนี่คือสาเหตุที่ทำไมเด็กพอโตถึงระดับนึง จึงเชื่อเพื่อนมากกว่าผู้ใหญ่
เหตุผลหลักคือ เขาต้องการคนรับฟังมากกว่าคนให้คำตอบของปัญหา
(*) และผู้ใหญ่ทั่วไปก็ยังพลาดอยู่ประจำ!
ถ้าอยากสื่อสารกับเขารู้เรื่อง จง
– ใส่ใจอารมณ์เขา
– รับฟังเขา
– แสดงความเห็นใจ/ปลอบ/ชม
– อย่ารีบชี้นำวิธีแก้ปัญหา
– กระตุ้นให้เขาคิดได้เอง/ให้เลือก/ตั้งคำถาม
(*) ทั้งหมดนี้จะเวิร์คเมื่อไม่มีอารมณ์ครอบงำความคิดของทั้งสองฝ่าย
ถ้าเขายังหวั่นไหว ไม่นิ่ง ปลอบเขาก่อน ทำให้เขารู้สึกดีขึ้นแล้วค่อยคุยกัน
[สรุป] ถ้ายังควบคุมตัวเองไม่ได้
อย่าทำหรือพูดอะไรจะดีกว่า (ฮา)
ข้อมูลทั้งหมดล้วนมาจากงานสัมมนาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยวินัยเชิงบวก
จากความร่วมมือกันของแอดมินเพจเลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ,
เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ,เพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา
และอาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ(SOOK)
เมื่อวันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม 2560 ตั้งแต่ 8:00 – 16:00 น.
References เพิ่มเติมสำหรับคนที่สนใจ แนะนำให้ติดตามอ่าน ได้แก่
เพจเลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ โดยหมอก้อย หมอตั้ม
แพทย์หญิงพรพิมล,นายแพทย์อัศวิน นาคพงค์พันธุ์
https://www.facebook.com/Growingupnormal
เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน โดย หมอโอ๋ (แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร)
https://www.facebook.com/takekidswithus
เพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา โดย หมอมินบานเย็น
แพทย์หญิงเบญจพร ตันตสูติ: จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
https://www.facebook.com/kendekthai
และศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ(SOOK)
https://www.facebook.com/Sookcenter/