Tags
ปกติผมเป็นคนอ่านหนังสือไม่มากนัก และไม่ค่อยหลากหลาย
อันเนื่องด้วยปัจจัยหลักสองอย่างคือเงินและเวลา
หลายครั้งที่แวะเข้าร้านหนังสือแล้วเดินเลือกหนังสือบนชั้นขายดีขึ้นมาดู แล้วพบว่าเนื้อหามันเป็นหนังสือ how-to สอนทำโน่นนั่นนี่ ผมก็จะวางมันลงไปสงบนิ่งบนชั้นต่อไปอย่างเงียบๆ เพราะโดยส่วนตัวรู้สึกว่าการป้อนอาหารใส่ปากแล้วจับกรามขยับเคี้ยวให้เลยมันดูไม่ได้ใส่ใจกับชีวิตมากไปหน่อย
ครั้นจะหาหนังสือที่กลั่นเอาแต่ภาพที่สร้างแรงบันดาลใจพลุ่งพล่านก็ใช่ว่าจะหาได้ง่ายๆ แถมบางครั้งจริตคนทำกับคนเสพก็ไม่ค่อยจะสอดคล้องกันง่ายๆ
ช่วงปีที่ผ่านๆมาจำนวนหนังสือที่ผ่านเข้าตามาก็น้อยลง แต่ก็ล้วนแล้วแต่คัดสรรให้เหมาะกับสไตล์ของตัวเองอย่างจริงจังมากขึ้น (ซึ่งส่วนตัวก็ถือว่าโอเคอยู่)
ผมได้อ่านผลงานของ Malcolm Gladwell ครั้งแรก จากคำแนะนำของน้อง @sahasbhop ผู้ซึ่งนิยมเสพหนังสือแนวใกล้เคียงกัน ผลงานแรกของเขาชื่อว่า Outliers ซึ่งเนื้อหาของเขาทำให้มุมมองชีวิตบางด้านเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็น ถือเป็นหนังสือที่ช่วยเปิดไอเดียและแนวคิดที่มาได้ถูกเวลามากในชีวิตช่วงนั้น
หลังจากเริ่มติดตามผลงานของ Malcolm ต่อเนื่องมาอีกสองสามเล่ม ผมก็เริ่มจับสไตล์งานเขียนที่โดดเด่นออกจากผลงานทั่วไปในตลาด เป็นแนวคิดที่เริ่มต้นง่าย แต่ไปต่อลำบากและเลียนแบบได้ยากยิ่ง
ประเด็นของเขาจะเริ่มต้นด้วยสิ่งต่างๆที่เรามักพบเห็นเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิต(ของคนยุคปัจจุบัน) แต่เมื่อ Malcolm เริ่มหยิบยกคำถามในบางแง่มุมขึ้นมาถาม คำนิยามเราจะเริ่มสั่นคลอน และเขาจะเริ่มขุดคุ้ยเอาข้อมูลและรายละเอียดในมุมที่คนทั่วไปไม่รู้จะหามาจากที่ไหน เป็นข้อมูลที่มักเน้นไปในทางที่พิสูจน์ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์พร้อมข้อมูลอ้างอิงในมุมตรงข้าม และมักจะหักล้างความเชื่อหรือความรู้สึกเดิมๆเสียจนแหลกไม่เป็นชิ้นดี
และในหนังสือเล่ม what the dog saw
Malcolm ก็ใช้วิธีการแบบเดียวกันกับหนังสือเล่มอื่นๆ (blink, the tipping point, outliers)
เพียงแต่เล่มนี้ ความเชื่อมโยงของเนื้อหาแต่ละบทไม่ได้หล่อหลอมรวมเป็นแกนก้อนเดียวแบบเล่มอื่นๆ แต่กลับใช้ความหลากหลายของเนื้อหา ตัวอย่างและข้อมูลประกอบมหาศาลเข้ามาเปิดมุมมองให้กว้างกว่าชนิดที่ทั้งสามเล่มก่อนเทียบไม่ได้
ผมขอยกตัวอย่าง บางคำถามที่แกะออกมาจากหนังสือเล่มนี้ เพื่อให้ลองนึกภาพตามได้ง่ายขึ้นว่าผู้ชายคนนี้คิดและเล่าอะไรให้พวกเราฟังบ้าง
– ถ้าบริษัทอาหารจะทำสุดยอดซอสมะเขือเทศขาย จะทำอย่างไรให้ได้สูตรซอสที่อร่อยที่สุดมา และสุดยอดซอสมะเขือเทศที่คนทั้งหมดชอบมันมีอยู่จริงหรือ? ถ้าไม่อะไรคือซอสมะเขือเทศที่คนจะชอบ?
– ประวัติการออกแบบยาคุมกำเนิดที่แพร่หลายไปทั่วทั้งโลก ที่จริงๆแล้วมันไม่เป็นธรรมชาติ! การที่ผู้หญิงมีประจำเดือนทุกเดือนคือเรื่องปกติ จริงหรือ? และการมีประจำเดือนมาสม่ำเสมอทุกเดือนสร้างผลข้างเคียงร้ายแรงอะไรกับเราบ้าง? (ที่มันเพิ่งจะมาเกิดกับคนยุคปัจจุบันเพราะยาคุม)
– ทำไมคนบางคนถึงสามารถทำให้หมาเชื่อฟังได้ง่าย ในขณะที่บางคนหมามักจะขู่ใส่
– ทำไมการซื้อบ้านให้คนไร้บ้านอยู่ฟรีๆถึงคุ้มค่า (เมื่อมองในภาพรวม)
– เราเชื่อมั่นเครื่องมือวัดบางอย่าง(เช่นเครื่อง x-ray) มากเกินไปหรือเปล่า? การวินิจฉัยโรคในปัจจุบันยังมีตรงไหนที่เราคิดว่ามันดี (ทั้งๆที่จริงๆแล้วผลมันไม่ดีอย่างที่คิด)
– ผลงานเพลง/บทประพันธ์นี้ลอกเขามา หรือ ได้รับแรงบันดาลใจเพื่อสร้างสรรค์ต่อยอด? เรากำลังปิดกั้นโอกาสสร้างสรรค์หรืออ้างความเป็นเจ้าของที่ไม่ได้มีจริงๆหรือเปล่า?
– วิเคราะห์ความล้มเหลวของสถานการณ์เฉพาะหน้า ออกเป็นสองรูปแบบคือ ความคิดล้นหัว กับตื่นตระหนก ที่จะทำให้เรื่องธรรมดาๆกลายเป็นเลวร้ายสุดขีด ที่บางทีจะทำให้คนที่มีความรู้ความสามารถสูง ทำผิดพลาดซ้ำๆไม่รู้จบ
– ข้อดีของความขัดแย้งระดับที่พอเหมาะในวัฒนธรรมองค์กร
– อัจฉริยะส่วนใหญ่จะเป็นตอนหนุ่มจริงเหรอ ถ้าไม่อัจฉริยะตอนแก่จะมีเส้นทางอย่างไร และพิเศษกว่าอย่างไร?
– วิธีการวัดและเลือกคนเข้าทำงานปัจจุบันมีประสิทธิภาพสูงสุดจริงหรือ วิธีเลือกคุณครูที่สอนเด็กให้มีประสิทธิภาพเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง? ผลลัพธ์ของการเลือกสองตัวอย่างนี้จะเปลี่ยนคุณภาพของบริษัท/เด็กนักเรียนได้แตกต่างกันแค่ไหน?
– การรวมคนเก่งมาทำงานร่วมกัน และใช้วัฒนธรรมองค์กรแบบส่งเสริมแต่คนเก่ง จะทำให้องค์กรเดินหน้าได้ดีกว่าองค์กรที่มีคนหลายระดับความสามารถจริงหรือ ถ้าไม่ อะไรคือสิ่งที่มีอิทธิพลสูงกว่า?
– เวลาสองวินาที ประเมินคนได้แค่ไหน? และจริงแค่ไหน ?